ต้นหมัน ต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ต้นหมัน ต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย ผศ.ดร.ภก. ชวลิต สิทธิสมบัติ คณะเภสัชศาสตร์ สถาบันวิทยาการประกอบการแห่งอโยธยา

  1. บทนำ

ต้นหมัน เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของชาติ บทความนี้ได้รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับต้นหมันในหลายด้านโดยเฉพาะในส่วนของการใช้ประโยชน์ของพืชและที่สำคัญคือข้อมูลการใช้ประโยชน์ทางยา

 

  1. ประวัติความเป็นมา

ต้นหมันเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา1-2 กรุงศรีอยุธยานับเป็นราชธานีที่สองของประเทศไทยถัดจากกรุงสุโขทัยโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที 3 เมษายน พ.ศ. 1893 ณ. ตำบลหนองโสน ระหว่างการก่อสร้างพระราชวังนั้นได้มีการพบหอยสังข์ทักษิณาวัตรขอนหนึ่งที่บริเวณใต้ต้นหมัน จึงทรงโปรดให้เก็บรักษาสังข์ดังกล่าวไว้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองสู่สมัยกรุงเทพเป็นเมืองหลวงเมืองอยุธยาได้เปลี่ยนมาเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาภายหลังได้มีการใช้ตราประจำจังหวัดอยุธยาเป็นรูปหอยสังข์ทักษิณาวัตรประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าอยู่ในปราสาทมีต้นหมันอยู่เหนือปราสาทนั้น1และกำหนดให้ต้นหมันเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

  1. ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ต้นหมันเป็นไม้ยืนต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cordia cochinchinensis Pierre.3-5 อยู่ในวงศ์หมันหรือวงศ์หญ้างวงช้าง (Boraginaceae)  ชื่อพ้อง Gerascanthus cochinchinensis (Gagnep.) A. Borhidi, Cordia premnifolia Ridley6  มีชื่ออื่นๆ เก้าศรี สะหลีหลวง สะหลี ย่อง ปู7

ต้นหมันเป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงกลางหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย8-9 สูง 2-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นเรียบถึงแตกเป็นร่องตามยาว สีเทาเข้มปนดำ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ก้านใบ 1-2 เซนติเมตร เนื้อใบคล้ายแผ่นหนังบาง แผ่นใบรูปขอบขนานถึงรูปไข่ กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 3-10 เซนติเมตร ปลายใบป้านหรือเว้าเล็กน้อย โคนใบกลม เส้นแขนงใบข้างละ 5-6 เส้น ขอบใบค่อนข้างเรียบ ดอกสมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามซอกใบ กิ่ง หรือปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 10-25 เซนติเมตร ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.2-1.6 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ 4-5 แฉก กลีบเลี้ยงจะขยายใหญ่พัฒนาเป็นส่วนถ้วยผล กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก เกสรเพศผู้มี 4-5 อัน ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ผลเป็นผลสดมีเนื้อ ทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 เซนติเมตร ผลสีขาว สีเขียวนวล หรือสีชมพู เมื่อผลสุกมีสีชมพูอมส้ม สีส้ม หรือสีเหลือง เนื้อผลเป็นเมือกเหนียว หรือยางเหนียวใส ภายในมีเมล็ดเดียวแข็ง ฐานผลห่อหุ้มด้วยถ้วยผล

ต้นหมันมีขึ้นทั่วไปตามแนวหลังป่าชายเลน ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง เขาหินปูน และเนินเขา พบในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย  มีการกระจายพันธุ์ในเกาะไหหลำ อินโดจีน และคาบสมุทรมลายู

ภาพที่ 1-2 ต้นหมันจาก https://ww2.ayutthaya.go.th/news/detail/2339 และ https://chaipatpark.com/tips/ศูนย์การเรียนรู้อุทยาน-พรรณไม้/item/729-หมัน

ภาพที่ 3-4 ตัวอย่างพืชแห้งของต้นหมันจาก https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:114054-1/images

และ https://www.gbif.org/occurrence/2514581893

4. ประโยชน์

ด้านอาหาร  สมัยก่อนชาวบ้านใช้ใบอ่อนทำอาหาร ส่วนยอดอ่อนนำมาเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก หรือแกงต่างๆ10 ส่วนผลดิบผลสุกรับประทานได้6

ด้านยาสมุนไพร  ส่วนรากนำมาต้มน้ำดื่มแก้อาการเจ็บหน้าอก10

ด้านอื่น ส่วนเนื้อเหลวเหนียวที่หุ้มเมล็ดในผลใช้ทำกาว ส่วนเปลือกต้นใช้ทำปอหรือเชือกเพื่อทำหมันตอกยาแนวเรือ7หรือการซ่อมแซมอุดรอยรั่วของเรือ

อยุธยาเคยเป็นเมืองหลวงหรือราชธานีของไทยมาแต่โบราณ เป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำสามสายคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก การคมนาคมทางน้ำโดยอาศัยเรือชนิดต่างๆ ถือว่ามีความสำคัญ การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศต้องใช้เรือขนาดใหญ่จำนวนมาก การซ่อมแซมเรือจึงมีความจำเป็นเมื่อใช้เรือเป็นเวลานานและมีรอยรั่ว การต่อเรือและการซ่อมอุดช่องหรือรอยรั่วจะมีขั้นตอนที่เรียกว่าการตอกหมันยาแนวเรือ หมันนอกจากจะหมายถึงชื่อต้นไม้แล้วยังหมายถึงตัววัสดุทีใช้ในการอุดช่องหรือรอยรั่วของเรือไม้ แต่เดิมมักใช้เปลือกไม้ทำหมันต่อมามีการใช้ด้ายดิบทดแทนเนื่องจากหาได้ง่ายและคุณสมบัติใกล้เคียงกัน เมื่อตอกหมันแล้วน้ำจะซึมเข้าเรือได้ยาก จากนั้นใช้ชันปิดรอยหมันและทาน้ำมันยางเพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้เรือ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2562 สาขาวิชาช่างต่อเรือ สาขางานต่อเรือไม้และไฟเบอร์กลาส11นั้นสำนักงานมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้กำหนดให้มีวิชางานตอกหมันยาชันในหมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพกลุ่มสมรรถนะวิชาชีพเลือกด้วย

5. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีรวมไปจนถึงการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นหมันแม้ว่าจะมีข้อมูลการใช้ประโยชน์ทางยาอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพืชในประเทศไทยที่อยู่ในสกุลเดียวกันพบว่าพืชบางชนิดในต่างประเทศมีการใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรและมีการศึกษาพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ เช่น หมันดง (Cordia dichotoma G.Forst.)12 ทางอายุรเวทในอินเดียใช้ ส่วนผล แก้ไข้ แก้ไอ แก้หอบหืด แก้กระหาย รักษาความผิดปกติของเลือด และขับพยาธิ ส่วนเปลือกต้น รักษาแผลและโรคผิวหนัง สารเคมีที่พบในส่วนผล13 เช่น alkaloids, flavonoids, phenolics, tannins และ reducing sugar ส่วนเมือกจากผลสุกพบฤทธิ์ลดความดันโลหิตและกระตุ้นการหายใจในกระต่าย ส่วนเมล็ดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ  สำหรับประเทศไทยต้นคอร์เดียหรือหมันแดง (Cordia sebestena L., Geiger tree) เป็นไม้ประดับที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่เกาะฮาวายมีการใช้ประโยชน์ต้นไม้นี้หลายด้านแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้เป็นยาสมุนไพร แต่จากการศึกษาวิจัยได้พบว่าสารสกัดจากผลของต้นคอร์เดียมีฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์14 เมื่อนำสารสกัดมาแยกองค์ประกอบได้สารประกอบหลายชนิดเช่น caffeic acid, rosmarinic acid, netpetoidin A-B และ sebestenoids A-D เป็นต้น

6. บทสรุป

ต้นหมัน เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่อยู่คู่กับชาวอยุธยามายาวนาน ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่นเป็นอาหาร ใช้ซ่อมแซมเรือ ในขณะที่การใช้ประโยชน์ทางยายังมีน้อย อย่างไรก็ตามเมื่อศึกษาพืชในสกุลเดียวกันพบว่าพืชสกุลนี้มีคุณค่าทางยา พบสารเคมีที่มีฤทธิ์ทางยาที่น่าสนใจ จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าต้นหมันน่าจะเป็นต้นไม้ที่มีคุณค่ามีศักยภาพทางยาที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไป

7. เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.ayutthayalocal.go.th/content/history
  2. https://ayutthaya.go.th/showatg.php?selatg=17
  3. https://www.dnp.go.th/botany/mplant/words.html?keyword=หมัน
  4. https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:114054-1/images
  5. https://www.gbif.org/occurrence/2514581893
  6. https://th.wikipedia.org/wiki/หมัน_(พรรณไม้)
  7. https://chaipatpark.com/tips/ศูนย์การเรียนรู้อุทยาน-พรรณไม้/item/729-หมัน
  8. http://www.efloras.org/florataxon.aspx?flora_id=2&taxon_id=200018951
  9. สรายุทธ บุณยเวชชีวิน และ รุ่งสุริยา บัวสาลี. ป่าชายเลน: นิเวศวิทยาและพรรณไม้. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ พ.ศ. 2554 หน้า 230-237. 
  10. https://www.komchadluek.net/news/217210
  11. https://bsq.vec.go.th/th-th/หลักสูตร/ประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช)/หลักสูตรพศ2562.aspx
  12. Khare C.P., Ayurvedic Pharmacopoeial Plant Drugs: Expanded Therapeutics. Bocaraton, FL., CRC Press, 2016, pp194-195.
  13. Gupta R., and Gupta G.D. A review on plant Cordia obliqua Willd. (Clammy cherry). Pharmacognosy Reviews 2015; 9: 127-131.
  14. Dai J, Sorribas A, Yoshida WY, Williams PG. Sebestenoids A-D, BACE1 inhibitors from Cordia sebestena. Phytochemistry 2010; 71(17-18): 2168-2173.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า